วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กรณีศึกษา “ไทยคร๊าฟท์”

กรณีศึกษา “ไทยคร๊าฟท์”

(ใช้เป็นภาพประกอบเท่านั้น มิใช่ บริษัท ไทยคร๊าฟท์ จำกัด จริง)

บริษัท ไทยคร๊าฟท์ จำกัด เป็นผู้ส่งออก (Exporter) โดยสินค้าที่ไทยคร๊าฟท์ส่งออกเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ทำจากผ้า เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง กระเป๋าถือสตรี ชุดคลุมอาบน้ำ หมวกคลุมผม ถุงมือจับของร้อน ฯลฯ ก่อตั้งโดยคุณอภิรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ไทยคร๊าฟท์ไม่ได้ผลิตสินค้าด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีว่าจ้างโรงงานในจังหวัดภาคเหนือให้ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อที่บริษัทฯได้รับจากลูกค้า

ภาพตัวอย่างสินค้า

ถุงมือจับของร้อน / กระเป๋าถือสตรี / กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง


ชุดคลุมอาบน้ำ / หมวกคลุมผม / ผ้ารองจาน


ผ้าปูโต๊ะ


ปัจจุบันคุณอภิรักษ์อายุ 39 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจหลักสูตรผู้บริหาร (Executive MBA) มีประสบการณ์การทำงานในบริษัทส่งออกขนาดเล็กแห่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปีก่อนที่จะลาออกมาก่อตั้งบริษัท ไทยคร๊าฟท์ จำกัด

เริ่มแรกไทยคร๊าฟท์มีพนักงานเพียง 3 คน พนักงานหนึ่งในสามคนเป็นเพื่อนร่วมงานในบริษัทเก่าที่คุณอภิรักษ์เคยทำงานอยู่ พนักงานที่เหลือเป็นบุคคลที่รับเข้าทำงานโดยการแนะนำของผู้ที่คุ้นเคยกับคุณอภิรักษ์ คุณอภิรักษ์เป็นผู้ฝึกอบรมทักษะการทำงานให้กับพนักงานทุกคนด้วยตนเอง การฝึกอบรมเป็นลักษณะของการสอนงานในระหว่างปฏิบัติงานจริง (On-the-job Training) พนักงานทุกคนจึงมีความรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันกับคุณอภิรักษ์มาก

Vision ของไทยคร๊าฟท์
“เราจะเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่ประกอบกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า ความสำเร็จของกิจการจะได้มาจากการลงทุนทางด้านทรัพยากรบุคคล ความรู้ ความยึดมั่นในบรรษัทภิบาล (Good Corporate Governance) และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Partner)”

นอกจากลูกค้าประจำแล้ว ยังมีลูกค้ารายใหม่ๆ ให้ความสนใจกับสินค้าของไทยคร๊าฟท์เช่นกัน การเจรจาธุรกิจกับลูกค้ารายใหม่ๆ บางครั้งก็ประสบความสำเร็จจนสามารถขายสินค้าได้ แต่บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับรายที่สามารถขายสินค้าได้ บริษัทฯ จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนให้ลูกค้าเหล่านี้เป็นลูกค้าประจำ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากลูกค้าขาดศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าของไทยคร๊าฟท์ซึ่งมีคุณภาพและราคาสูงกว่าคู่แข่ง

คุณอภิรักษ์พยายามสร้างองค์กรให้มีทักษะและความสามารถในการจัดหาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพจากพันธมิตรธุรกิจ รวมทั้งการสร้างและพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีกับคู่ค้าทุกราย

คุณอภิรักษ์เป็นผู้บริหารที่เน้นการบริหารแบบเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนตัดสินใจเกี่ยวกับงานประจำของตนรวมทั้งสามารถขอคำปรึกษาจากคุณอภิรักษ์ได้ตลอดเวลา ทำให้คุณอภิรักษ์มีความใกล้ชิดกับพนักงานทุกคน นอกจากนี้ ตัวคุณอภิรักษ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงยังมีความเชื่อมั่น (Confidence) ในตัวพนักงาน และให้ความไว้วาง (Trust) ต่อพนักงานพอสมควร พนักงานแต่ละฝ่ายงานสามารถติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันได้โดยตรงและยังมีความสัมพันธ์ต่อกันค่อนข้างดี พนักงานทุกคนของไทยคร๊าฟสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี มีการปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ไขปัญหาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ถือได้ว่าการประสานงานระหว่างหน่วยย่อยในองค์กรเป็นไปอย่างดี

ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ไทยคร๊าฟท์มีพนักงานทั้งหมด 7 คน โครงสร้างองค์กรของบริษัทฯ มีลักษณะดังนี้

1. ฝ่ายขาย ประกอบด้วยพนักงานสตรี 3 คน ทุกคนมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ฝ่ายขายยังไม่มีหัวหน้าฝ่าย พนักงานทุกคนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ กก. ผจก. งานของพนักงานในฝ่ายขายได้แก่
- ประชุมเรื่องรายละเอียดของออร์เดอร์กับกรรมการผู้จัดการ(กก. ผจก.): ลูกค้าสั่งสินค้าและติดต่อกับบริษัทฯ ทางอีเมล์เป็นภาษาอังกฤษ แต่พนักงานในฝ่ายขายยังขาดทักษะที่ดีพอในการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ จึงต้องปรึกษากับ กก. ผจก. ทุกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดของออร์เดอร์ก่อนที่จะนำข้อมูลไปปฏิบัติงานในขั้นตอนต่อไป
- เตรียมวัตถุดิบ: พนักงานในฝ่ายขายต้องประสานงานกับ Supplier ในเรื่องเกี่ยวกับวัตถุดิบสำหรับผลิตออร์เดอร์ เช่น รายละเอียด (Specification) ปริมาณ เวลาส่งมอบ ฯลฯ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว Supplier จะส่งวัตถุดิบดังกล่าวไปให้โรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้บริษัทฯ ตามรายละเอียดที่ตกลง
- จัดทำใบสั่งผลิตสินค้า: พนักงานในฝ่ายขายต้องติดต่อกับผู้จัดการโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้บริษัทฯ เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดของออร์เดอร์ พร้อมทั้งส่งใบสั่งผลิตสินค้าที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนของออร์เดอร์ไปให้กับผู้จัดการโรงงานดังกล่าว
- ติดต่อประสานงานกับผู้จัดการโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทฯ : พนักงานในฝ่ายขายต้องติดตามความคืบหน้าของออร์เดอร์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อป้องกันความล่าช้าในการผลิตและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
- ตรวจสอบคุณภาพสินค้า: พนักงานในฝ่ายขายต้องตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่โรงงานผลิตก่อนที่จะส่งมอบให้ลูกค้า หากสินค้ามีคุณภาพที่ไม่ตรงตามความต้องการ พนักงานจะส่งสินค้ากลับไปให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข โดยปกติ โรงงานจะต้องทำสินค้าต้นแบบที่มีคุณภาพตามต้องการให้บริษัทฯ อนุมัติก่อนเริ่มผลิตสินค้าจริง
- ติดต่อประสานกับบริษัทชิปปิ้ง: พนักงานในฝ่ายขายต้องประสานงานกับบริษัทชิปปิ้งเพื่อให้บริษัทชิปปิ้งสามารถจัดทำเอกสารและดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับการส่งออกสินค้าได้
- รับชำระเงินจากลูกค้า : เมื่อส่งสินค้าเรียบร้อยแล้ว พนักงานในฝ่ายต้องจัดทำเอกสารให้กับธนาคารเพื่อขอรับชำระเงินค่าสินค้าตาม L/C (Letter of Credit) ของลูกค้า
กก. ผจก. แบ่งลูกค้าให้พนักงานในฝ่ายขายรับผิดชอบเป็นรายๆ ไป กล่าวคือ ลูกค้ารายหนึ่งๆ จะอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานคนเดิมตลอดเวลา เมื่อลูกค้ารายนี้สั่งซื้อสินค้า พนักงานคนเดิมก็จะทำงานดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด จนกระทั่งสินค้าถูกส่งมอบและบริษัทฯ ได้รับชำระเงิน

2. ฝ่ายบรรจุหีบห่อ ประกอบด้วยพนักงานชาย 2 คน ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปวช/ปวส ฝ่ายบรรจุหีบห่อยังไม่มีหัวหน้าฝ่าย พนักงานทุกคนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ กก. ผจก. งานของฝ่ายบรรจุหีบห่อ ได้แก่
- บรรจุสินค้าลงกล่องและปิดผนึก
- ติดต่อหน่วยงานภายนอกองค์กรเกี่ยวกับการรับส่งเอกสาร ตัวอย่างสินค้า ตัวอย่างวัตถุดิบ
นอกจากนี้ พนักงานในฝ่ายบรรจุหีบห่อยังต้องช่วยฝ่ายอื่นรับส่งเอกสาร หรือติดต่อกับหน่วยงานภายนอกตามที่ได้รับการร้องขอ

3. ฝ่ายบริหารจัดการทั่วไป ประกอบด้วยพนักงานสตรี 2 คน ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ฝ่ายบริหารจัดการทั่วไปยังไม่มีหัวหน้าฝ่าย พนักงานทุกคนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ กก. ผจก. งานของฝ่ายนี้ได้แก่
- การชำระเงิน : รับวางบิล จัดทำเช็ค ฯลฯ
- จัดทำเงินเดือนและดูแลสวัสดิการของพนักงาน
- จัดหา ดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงาน
- จัดเตรียมเอกสารและประสานงานกับสำนักงานบัญชีภายนอกเพื่อการจัดทำบัญชีและการเสียภาษีอากรของบริษัทฯ (ไทยคร๊าฟท์ว่าจ้างสำนักงานบัญชีอิสระให้จัดทำบัญชีเพื่อการเสียภาษีอากร)
- รับผิดชอบงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กร
- ฯลฯ
ในฝ่ายบรรจุหีบห่อและฝ่ายบริหารจัดการทั่วไป พนักงานทุกคนสามารถทำงานทุกอย่างในฝ่ายของตนได้ และช่วยกันทำงานของฝ่ายตนโดยไม่เกี่ยงงานกัน

พนักงานมีความจงรักภักดีกับองค์กรสูง การลาออก (Turnover) และการขาดงาน (Absenteeism) อยู่ในระดับต่ำ บริษัทฯ ไม่ได้เข้มงวดกับเวลาเริ่มทำงานของพนักงานแต่ละคนในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม อัตราการมาทำงานสายของพนักงานก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานกับองค์กรพอสมควร ถึงแม้ว่างานของบริษัทฯจะมีปัญหาในช่วงใกล้การส่งมอบสินค้าค่อนข้างมาก จนทำให้พนักงานเกิดความเครียดก็ตาม บริษัทฯ จ่ายเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการให้กับพนักงานในอัตราที่พอๆ กับเกณฑ์เฉลี่ยของตลาดแรงงาน บริษัทฯ ปรับเงินเดือนให้พนักงานปีละครั้ง โดยไม่ได้กำหนดเกณฑ์ชัดเจนในการพิจารณา มักจะใช้ดุลพินิจของ กก. ผจก. เป็นหลัก ไทยคร๊าฟท์ยังไม่มีกฎระเบียบบริษัทที่ชัดเจน พนักงานถือเอาธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติตน

ผลประกอบการทางด้านการเงินของไทยคร๊าฟท์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา ในระยะหลังลูกค้าประจำทุกรายสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่าบริษัทฯ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับยอดขายและผลกำไรแต่อย่างใด ตั้งแต่กลางปี 2546 เป็นต้นมา ไทยคร๊าฟท์ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มอีก 2 – 3 ราย ยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นถึง 100% เป็นผลให้ความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรกับลูกค้าแต่ละรายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย บริษัทฯ เริ่มมีปัญหาความล่าช้าในการสื่อสารกับลูกค้า ลูกค้าได้รับคำตอบจากบริษัทฯ ช้าเนื่องจาก กก. ผจก. ตอบอีเมล์ไม่ทัน นอกจากนี้ พนักงานในฝ่ายขายเริ่มมีปัญหาในการทำงาน กล่าวคือไม่สามารถสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกองค์กรได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร เนื่องจากต้องรอ กก.ผจก. ถ่ายทอดคำตอบจากลูกค้า ต้องรอปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กก. ผจก. ต้องรอ กก. ผจก. เขียนอีเมล์ถามข้อมูลจากลูกค้า ฯลฯ ทำให้งานต่างๆ เกิดความล่าช้า นอกจากนี้ พนักงานในฝ่ายขายเริ่มมีงานล้นมือ เนื่องจากปริมาณออร์เดอร์เพิ่มขึ้น ทำให้บางครั้งเกิดความล่าช้าในการเตรียมวัตถุดิบให้กับโรงงาน เพราะพนักงานในฝ่ายขายติดพันอยู่กับออร์เดอร์เดิม จึงไม่สามารถปลีกตัวมาประสานงานกับ Supplier เพื่อเตรียมวัตถุดิบสำหรับออร์เดอร์ใหม่ได้ บางครั้งพนักงานในฝ่ายขายก็ยุ่งกับออร์เดอร์หนึ่งๆ จนไม่มีเวลาติดตามความคืบหน้าของออร์เดอร์อื่นอย่างใกล้ชิด ทำให้งานมีปัญหาค่อนข้างมาก ในส่วนของฝ่ายหีบห่อก็มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานไม่ทันเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ปริมาณออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นทำให้พนักงานในฝ่ายบรรจุหีบห่อต้องใช้เวลาในบรรจุสินค้าลงกล่องและปิดผนึกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากการทำงานของพนักงานในฝ่ายขายก็ทำให้การผลิตสินค้าเกิดความล่าช้าจนสินค้าเสร็จใกล้กับกำหนดส่งมอบมาก พนักงานในฝ่ายบรรจุหีบห่อต้องบรรจุสินค้าอย่างเร่งรีบเพื่อให้ทันตามกำหนด ความเครียดของพนักงานทุกคนโดยเฉพาะพนักงานในฝ่ายขายและฝ่ายบรรจุหีบห่อในช่วงใกล้การส่งมอบสินค้าจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ พนักงานในสองฝ่ายนี้มักจะต้องทำงานล่วงเวลาบ่อยๆ หรือบางครั้งต้องทำงานในวันหยุดเพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามกำหนด พนักงานเริ่มท้อแท้และผลัดกันลางานหลังจากการส่งมอบสินค้าแต่ละครั้ง


คุณอภิรักษ์เองก็หนักใจกับงานที่ล้นมือเช่นกัน ระยะหลังไม่มีเวลาให้คำปรึกษาและดูแลพนักงานอย่างใกล้ชิดเหมือนที่เคยปฏิบัติเสมอมา นอกจากนี้ คุณอภิรักษ์ยังต้องยุ่งอยู่กับงานประจำวันที่เพิ่มมากขึ้นจนไม่มีเวลาสำหรับงานบริหารองค์กร เช่น การพัฒนากลยุทธ์ การพัฒนาองค์กร การมองหาโอกาส (Opportunity) และการป้องกันอุปสรรค (Threat) ต่างๆ ทางธุรกิจ เป็นต้น คุณอภิรักษ์กังวลกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก และพยายามคิดหาหนทางแก้ไข แต่ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้

$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$


ประเด็นการศึกษาค้นคว้า กรณีศึกษา “ไทยคร๊าฟท์”

จากกรณีศึกษาข้างต้น ให้นิสิตดำเนินการ ดังนี้
๑. กำหนดประเด็นคำถามที่เป็นข้อขัดแย้งทางความคิดในมุมมองของนิสิต โดยกำหนดให้ได้กว้างขวาง ครอบคลุมประเด็นปัญหาตามกรณีศึกษานี้ให้มากที่สุด ให้นิสิตเขียนประเด็นเหล่านั้นลงในเอกสารส่งอาจารย์ประจำชั้นด้วย อย่างน้อยควรจะได้ ไม่น้อยกว่า ๓ ประเด็น


ตอบ

ประเด็นที่ 1 : จากวิสัยทัศน์ ของไทยคร๊าฟที่ได้กล่าวไว้นั้น บริษัทสามารถปฏิบัติได้จริงหรือสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของบริษัทหรือไม่อย่างไร

ประเด็นที่ 2 : จากการทำงานของพนักงาน บริษัท ไทยคร๊าฟท์ พนักงานทุกคนมีงานทำหรือมีภาระหน้าที่ล้นมือ ท่านคิดว่า บริษัทควรรับพนักงานเพิ่มหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ 3: จากกรณีศึกษา “ไทยคร๊าฟท์” มีปัจจัยใดบ้างที่เน้นเหตุให้เกิดปัญหาต่อระบบการทำงานของบริษัท

ประเด็นที่ 4 : ท่านคิดว่า บริษัท ไทยคร๊าฟท์ จัดระบบโครงสร้างการทำงานเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ 5 : หากท่านเป็นคุณอภิรักษ์ ท่านคิดว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

ประเด็นที่ 6 : ในระยะหลัง บริษัทเริ่มมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น หากท่านเป็นลูกค้าของบริษัท ท่านคิดว่าควรจะทำธุรกิจกับบริษัทต่อหรือไม่ อย่างไร


฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿

๒. จากประเด็นที่นิสิตกำหนดขึ้น นำมาประชุมกลุ่มกับเพื่อน เพื่อหลอมรวมความคิด และสรุปประเด็นคำถามให้เข้มข้นและกว้างขวางให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การค้นคว้า


ตอบ

ประเด็นที่ 1(1) จาก vision ของไทยคร๊าฟ์ที่กล่าวถึง "ความสำเร็จของกิจการได้มาจากการลงทุนทางด้านทรัพยากรบุคคล ความรู้ ความยึดมั่นในบรรษัทภิบาลและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรธุรกิจ" นั้น ไทยคร๊าฟท์สามารถทำได้ตามที่กล่าวไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

รายละเอียด : จากวิสัยทัศน์ที่ไทยคร๊าฟท์กล่าวไว้นั้น สามารถกระทำได้จริงเฉพาะช่วงแรกๆเท่านั้น เพราะจากคำกล่าวที่ว่า ความสำเร็จของกิจกรรมได้มาจากการลงทุนทางด้านทรัพยากรบุคคล แต่ไทยคร๊าฟท์มีพนักงานน้อยเกินไปทำให้พนักงานหนึ่งคนต้องรับผิดชอบหลายหน้าที่ ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน ซึ่งพนักงานสามารถที่จะปฏิบัติงานต่างๆ มากมายได้ในช่วงแรก แต่พองานเพิ่มมากขึ้น พนักงานทุกคนล้วนแต่มีงานล้นมือ ทำให้ส่งงานให้ลูกค้าไม่ทัน จนต้องทำงานล่วงเวลาหยุดงานบ้าง งานก็จะมีประสิทธิภาพน้อยลง วิสัยทัศน์ในข้อนี้จึงขัดต่อความเป็นจริงที่ว่าการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล แต่ไทยคร๊าฟท์ยังไม่ลงทุนเท่าที่ควร อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า สามารถทำได้ในระยะที่งานยังไม่มาก แต่พอกิจการขยายขึ้นบุคลากรหรือพนักงานก็ควรจะเพิ่มขึ้นด้วยตามวิสัยทัศน์ที่กล่าวไว้ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น กิจการก็จะขยายตามไปด้วย

ด้านความรู้ พนักงานที่ไทยคร๊าฟท์รับมานั้นส่วนมากเป็นคนที่บริษัทลูกค้าแนะนำมาให้ ซึ่งก็ยังขาดประสิทธิภาพในการทำงาน นั่นคือยังมีความรู้ไม่เพียงพอ เช่น พนักงานฝ่ายขายยังต้องรอให้ กก.ผจก. แปลรายละเอียดของออร์เดอร์ได้ เพราะพนักงานยังขาดทักษะในการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่รับเข้ามาทำงานยังขาดความรู้ อีกทั้งยังต้องรอให้ กก.ผจก. เป็นผู้สอนงานให้ แสดงว่าพนักงานที่รับมายังมีประสบการณ์น้อย ทำให้เสียเวลาในการทำธุรกิจ อีกอย่างหากพนักงานจะทำการใดต้องรอให้ กก.ผจก. เป็นผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งก็เป็นการทำให้เสียเวลาเช่นเคย

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เมื่อบริษัทขยายกิจการขึ้น มีลูกค้ามากขึ้น บริษัทควรปรับเปลี่ยนกลยุทธิ์ไปตามด้วย ควรเป็นพนักงานมากขึ้น และควรรับพนักงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาทำงาน ทำให้ได้ตามวิสัยทัศน์ที่วางได้ เพราะในระยะหลังไทยคร๊าฟท์ไม่สามารถทำได้ตาม วิสัยทัศน์ที่ว่าไว้ หากไทยคร๊าฟท์จะบริหารธุรกิจต่อไปควรย้อนกลับมาดูวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ด้วย

ประเด็นที่ 2(4) ในความคิดของท่านคิดว่าการบริหารงานของคุณอภิรักษ์ ดีแล้วหรือไม่อย่างไร

รายละเอียด : ในความคิดของกลุ่มข้าพเจ้าคิดว่า การบริหารงานของคุณอภิรักษ์ยังไม่ดีพอ เพราะ

1. ระบบการรับพนักงานเข้าทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคุณอภิรักษ์รับพนักงานเข้ามาทำงานตามคำแนะนำของลูกค้า ถึงแม้จะจบปริญญาตรีก็จริง แต่ยังขาดความรู้ทางด้านการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษ แสดงว่าพนักงานที่รับเข้ามาทำงานนั้นยังไม่มีคุณภาพ ดังนั้น คุณอภิรักษ์ควรมีการสัมภาษณ์พนักงานเป็นอย่างดีก่อนรับเข้ามาทำงานเพื่อจะได้พนักงานที่มีคุณภาพ และควรรับพนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน เพื่อจะได้เรียนรู้การทำงานได้อย่างรวดเร็ว งานก็จะออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ควรมีหัวหน้าฝ่ายในแต่ละฝ่าย เพื่อคุณอภิรักษ์จะได้มีเวลาในการบริหารองค์กร เพราะจากปัญหาที่พบนั้น เนื่องจากไม่มีหัวหน้าฝ่ายงาน เลยเป็นเหตุให้เวลาที่พนักงานประสบปัญหาต่างๆ จึงต้องรีบวิ่งเข้าหาคุณอภิรักษ์โดยตรง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย ทางที่ดีคุณอภิรักษ์ควรรับสมัครหัวหน้าฝ่ายงานเพิ่ม เพื่อแบ่งหน้าที่ของตนเอง และการทำงานจะได้มีระบบมากยิ่งขึ้น

3. การมอบหน้าที่ ให้แก่พนักงานแต่ละคนยังไม่ชัดเจนและไม่ตายตัว ซึ่งดูเหมือนเป็นการทำงานที่ไม่มีระบบ เพราะพนักงานฝ่ายขายไม่ได้มีหน้าที่ขายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นฝ่ายเดินเอกสาร รับออร์เดอร์ ประสานงาน จัดทำเอกสารต่างๆ อีกอย่างหน้าที่ของแต่ละครนั้นมากเกินไป ทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ อย่างฝ่ายหีบห่อยังต้องมาเดินเอกสารหรือติดต่อหน่วยงานภายนอกด้วย ซึ่งไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่เป็นระบบ ดังนั้นคุณอภิรักษ์ควรวางระบบการทำงานใหม่ วางแผนโครงงานการทำงานของพนักงานทุกคน พร้อมบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน เพื่อให้ได้ทั้งานที่มีคุณภาพ และพนักงานที่มีประสิทธิภาพ

4. บริษัทยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เพราะพนักงานถือเอาธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติตน เช่น การให้โบนัส แก่พนักงานหรือปรับเงินเดือนให้พนักงาน โดยไม่มีการกำหนดเกณฑ์หรือพิจารณาอะไรมากนัก ทุกอย่างมันอยู่กันดุลพินิจของกก.ผจก. เป็นหลัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการลำเอียงต่อพนักงานก็เป็นได้ หากยังไม่มีกฎระเบียบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางบริษัทเอง คุณอภิรักษ์ควรตั้งกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นบริษัทที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ 3(5) หากท่านเป็นคุณอภิรักษ์ ท่านจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร

รายละเอียด : หากข้าพเจ้าเป็นคุณอภิรักษ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ข้าพเจ้าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้

1. รับพนักงานที่มีประสิทธิภาพมาทำงาน โดยการจัดระบบการสัมภาษณ์ก่อนเข้าทำงาน โดยการเปิดรับสมัครพนักงานโดยตรง แบบไม่ต้องผ่านคำแนะนำของลูกค้า เพื่อจะได้รู้พื้นฐานความรู้รอบตัวของพนักงานแต่ละคนที่จะรับเข้ามาทำงาน

2. วางแผนระบบการทำงานให้ชัดเจน พนักงานแต่ละคนของแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ที่ชัดเจน แยกงานออกเป็นแต่ละฝ่ายอย่างเป็นระบบ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายเอกสาร ฝ่ายรับออร์เดอร์ ฝ่ายสื่อสารธุรกิจกับลูกค้า ฝ่ายส่งเอกสาร ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายผลิต เป็นต้น เพราะหากจัดระบบหน้าที่ที่ชัดเจนแล้ว พนักงานแต่ละคนก็จะมีหน้าที่ที่ชัดเจน ดูแลรับผิดชอบแค่ได้รับมอบหมาย งานก็จะดูแคบลงและทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพและส่งสินค้าทันตามที่กำหนด

3. บริษัทควรรับพนักงานเพิ่ม เพราะบริษัทได้ขยายธุรกิจ มีลูกค้าสั่งสินค้าเพิ่มขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่พนักงาน 1 คน จะได้รับในหลายออร์เดอร์และหลายหน้าที่พร้อมกัน อีกอย่างได้ระบุไว้ว่าให้พนักงานคนเดิมรับออร์เดอร์จากลูกค้าคนเดิม หากเป็นเช่นนั้นเมื่อมีลูกค้ามาส่งสินค้าเพิ่ม โดยเฉพาะเป็นลูกค้ารายใหม่ ก็ต้องมีพนักงานคนใหม่มารับออร์เดอร์ไปทำ แต่ไทยคร๊าฟท์ยังมีพนักงานไม่เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้า ฉะนั้นเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทจึงควรรับพนักงานเพิ่มขึ้นและจะได้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ ที่ว่า "ลงทุนด้วยทรัพยากรบุคคล"

4. บริษัทควรมีหัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่าย และมีฝ่ายบุคคลไว้เพื่อให้คำแนะนำแก่พนักงาน เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณอภิรักษ์ในการบริการให้คำปรึกษาแก่พนักงานในฝ่าย เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และงานจะได้มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน เพราะพนักงานไม่ต้องรอรับคำตอบจากกก.ผจก.

5. ควรร่างระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของทางบริษัทขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้แก่พนักงาน เช่น จะมีโบนัสให้พนักงาน ก็ต้องมีเหตุผลและหลักเกณฑ์ที่สมควรที่พนักงานคนนั้นจะได้รับ และเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับพนักงานคนอื่นๆ ด้วย และเพื่อให้ระบบของบริษัทแลดูเป็นสากลมากขึ้น...

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20 สิงหาคม 2552 เวลา 11:40

    กรณีของบริษัทนี้นั้น
    นับว่าเป็นความสำเร็จ
    ของบริษัทคนไทย
    ที่...สามารถนำ
    รากเหง้าของความเป็นไทย
    มาประยุกต์เข้ากับยุคสมัย
    จน...สามารถ
    นำรากเหง้าของความเป็นไทย
    สู่สากล...ได้สำเร็จ
    ซึ่งวิสัยทัศน์ที่บริษัทตั้งไว้นั้น
    ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในช่วงแรก
    ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งดี
    แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น
    ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า
    ในวงการธุรกิจนั้น
    ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้
    มีการแข่งขันที่รุนแรง
    และดูเดือด
    มีคนเคย...กล่าวไว้ว่า
    "ถ้าอยากยิ่งใหญ่ ต้องโต
    ถ้าไม่โต เท่ากับตาย"
    ก็คงสามารถ...กล่าวกับบริษัทนี้ได้
    นับวัน...บริษัทก็เติบโตขึ้น
    ตามวัฐจักรของโลก
    ด้วยสภาพของบริษัทนั้น
    โครงสร้างบุคลากร
    ถูกออกแบบมาเพื่อการดำเนินการ
    ในแบบองค์กรขนาดเล็ก
    เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น
    โครงสร้างบุคลากร
    ก็ยังพอสามารถที่จะร้องรับได้
    เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง
    โครงสร้างบุคลากร
    ก็ไม่สามารถรอบรับได้อีกต่อไป
    เกิดปรากฏการณ์
    "โดมิโน (Domino effect)"
    เพราะหากเปรียบ
    บุคลากรแต่ละฝ่าย
    เป็นโดมิโนที่วางเรียงต่อกัน
    เมื่อตัวหนึ่งตัวใดล้มลงไป
    ย่อมจะส่งผลต่อกันไป
    จนท้ายที่สุด คือ
    ทุกตัวบนกระดาน
    ล้มเหมือนกันหมด
    แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น
    สิ่งที่เป็นตัวแปร
    ที่สำคัญในการอยู่รอด
    ...นั่นก็คือ...
    ผู้บริหาร (administrator)
    และเป็นผู้กำหนดนโยบาย
    ...องค์กร...
    หากผู้บริหารองค์กร
    ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง
    ที่องค์กรเผชิญอยู่
    และพร้อมที่จะนำปัญหาเหล่านั้น
    มาปรับปรุงและแก้ไข
    ก็เชื่อมั่นได้ว่า
    องค์กรสามารถอยู่รอดอย่างแน่นอน

    ตอบลบ